วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พระราชประวัติของรัชกาลที่ 2

พระนามเต็ม
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระนามเต็มเมื่อขึ้นครองราชย์ว่า พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สากลจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอกนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรปรมาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประกาศ คตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ซึ่งเหมือนกับพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทุกตัวอักษร เนื่องจากในเวลานั้น ยังไม่มีธรรมเนียม ที่จะต้องมีพระปรมาภิไธยแตกต่างกันในแต่ละพระองค์
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ออกพระนามรัชกาลที่ 2 ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ตามนามของพระพุทธรูปที่ทรงโปรดให้สร้างอุทิศถวายและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เฉลิมพระปรมาภิไธยใหม่เป็นพระบาทสมเด็จพระบรมราชพงษเชษฐ มเหศวรสุนทร ไตรเสวตรคชาดิศรมหาสวามินทร์ สยารัษฎินทรวโรดม บรมจักรพรรดิราช พิลาศธาดาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระพุทธเลิศหล้านภาไลย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เฉลิมพระนามใหม่เป็นพระบาทสมเด็จพระรามาธิดีศรีสินทรมหาอิศรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ครองราชสมบัติ
เมื่อถึงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคชรา ขณะมีพระชนมายุได้ 73 พรรษา นับเวลาในการเสด็จครองราชย์ได้นานถึง 27 ปี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงได้เสด็จขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 2 ได้ย้ายมาทำพิธีที่หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เนื่องจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทซึ่งสร้างขึ้นแทนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทอันเป็นสถานที่ทำพิธีปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอยู่ ในรัชกาลต่อ ๆ มาจึงใช้หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นสถานที่จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและใช้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นสถานที่ตั้งพระบรมศพ หลังจากเสร็จพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์จึงเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราตามโบราณราชประเพณี
พระปรีชาสามารถ

ด้านกวีนิพนธ์
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้รับการยกย่องว่า เป็นยุคทองของวรรณคดีสมัยหนึ่งเลยทีเดียว ด้านกาพย์กลอนเจริญสูงสุด จนมีคำกล่าวว่า "ในรัชกาลที่ 2 นั้น ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด" กวีที่มีชื่อเสียงนอกจากพระองค์เองแล้ว ยังมีกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สุนทรภู่ พระยาตรัง และนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) เป็นต้น พระองค์มีพระราชนิพนธ์ที่เป็นบทกลอนมากมาย ทรงเป็นยอดกวีด้านการแต่งบทละครทั้งละครในและละครนอก มีหลายเรื่องที่มีอยู่เดิมและทรงนำมาแต่งใหม่เพื่อให้ใช้ในการแสดงได้ เช่น รามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา โดยเรื่องอิเหนานี้ เรื่องเดิมมีความยาวมาก ได้ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นเรื่องยาวที่สุดของพระองค์ วรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 ได้ยกย่องให้เป็นยอดบทละครรำที่แต่งดี ยอดเยี่ยมทั้งเนื้อความ ทำนองกลอนและกระบวนการเล่นทั้งร้องและรำ นอกจากนี้ยังมีละครนอกอื่น ๆ เช่น ไกรทอง สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ หลวิชัยคาวี มณีพิชัย สังข์ศิลป์ชัย ได้ทรงเลือกเอาของเก่ามาทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่บางตอน และยังทรงพระราชนิพนธ์บทพากย์โขนอีกหลายชุด เช่น ชุดนางลอย ชุดนาคบาศ และชุดพรหมาสตร์ ซึ่งล้วนมีความไพเราะซาบซึ้งเป็นอมตะใช้แสดงมาจนทุกวันนี้

ด้านปฏิมากรรม /ประติมากรรม
นอกจากจะทรงส่งเสริมงานช่างด้านหล่อพระพุทธรูปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังได้ทรงพระราชอุตสาหะปั้นหุ่นพระพักตร์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร อันเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่งของไทยด้วยพระองค์เอง ซึ่งลักษณะและทรวดทรงของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นแบบอย่างที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 2 นี้เอง ส่วนด้านการช่างฝีมือและการแกะสลักลวดลายในรัชกาลของพระองค์ได้มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก และพระองค์เองก็ทรงเป็นช่างทั้งการปั้นและการแกะสลักที่เชี่ยวชาญยิ่งพระองค์หนึ่งอย่างยากที่จะหาผู้ใดทัดเทียมได้ นอกจากฝีพระหัตถ์ในการปั้นพระพักตร์พระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลกแล้ว ยังทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร คู่หน้าด้วยพระองค์เองร่วมกับกรมหมื่นจิตรภักดี และทรงแกะหน้าหุ่นหน้าพระใหญ่และพระน้อยที่ทำจากไม้รักคู่หนึ่งที่เรียกว่าพระยารักใหญ่ และพระยารักน้อยไว้ด้วย

ด้านดนตรี
กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระปรีชาสามารถในด้านนี้ไม่น้อยไปกว่าด้านละครและฟ้อนรำ เครื่องดนตรีที่ทรงถนัดและโปรดปรานคือ ซอสามสาย ซึ่งซอคู่พระหัตถ์ที่สำคัญได้พระราชทานนามว่า "ซอสายฟ้าฟาด" และเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีคือ "เพลงบุหลันลอยเลื่อน" หรือ "บุหลัน (เลื่อน) ลอยฟ้า" แต่ต่อมามักจะเรียกว่า "เพลงทรงพระสุบิน" เพราะเพลงมีนี้มีกำเนิดมาจากพระสุบิน (ฝัน) ของพระองค์เอง โดยเล่ากันว่าคืนหนึ่งหลังจากได้ทรงซอสามสายจนดึก ก็เสด็จเข้าที่บรรทมแล้วทรงพระสุบินว่า ได้เสด็จไปยังดินแดนที่สวยงามดุจสวรรค์ ณ ที่นั่น มีพระจันทร์อันกระจ่างได้ลอยมาใกล้พระองค์ พร้อมกับมีเสียงทิพยดนตรีอันไพเราะยิ่ง ประทับแน่นในพระราชหฤทัย ครั้นทรงตื่นบรรทมก็ยังทรงจดจำเพลงนั้นได้ จึงได้เรียกพนักงานดนตรีมาต่อเพลงนั้นไว้ และทรงอนุญาตให้นำออกเผยแพร่ได้ เพลงนี้จึงเป็นที่แพร่หลายและรู้จักกันกว้างขวางมาจนทุกวันนี้

เสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรด้วยโรคพิษไข้ ทรงไม่รู้สึกพระองค์เป็นเวลา 8 วัน พระอาการประชวรก็ได้ทรุดลงตามลำดับ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 สิริพระชนมายุได้ 57 พรรษา และครองราชย์สมบัติได้ 15 ปี

พระมเหสี พระราชโอรส พระราชธิดา

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมี พระราชโอรส - พระราชธิดา รวมทั้งสิ้น 73 พระองค์ โดยประสูติเมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร 47 พระองค์ ประสูติเมื่อดำรงพระอิสรยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล 4 พระองค์ และประสูติภายหลังบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว 22 พระองค์

พระราชกรณียกิจสำคัญในรัชกาลที่ ๒
                        ด้านการปกครอง
                        พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านการปกครองโดยยังคงรูปแบบการปกครองแบบเดิม  แต่มีการตั้งเจ้านายที่เป็นเชื้อพระวงศ์เข้าดูแลบริหารงานราชการตามหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมพระคลัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นผู้กำกับดูแล เป็นต้น ส่วนด้านการออกและปรับปรุงกฎหมายในการปกครองประเทศที่เอื้อประโยชน์แก่ประชาชนมากขึ้น ได้แก่ พระราชกำหนดสักเลก โดยพระองค์โปรดให้ดำเนินการสักเลกหมู่ใหม่ เปลี่ยนเป็นปีละ 3 เดือน ทำให้ไพร่สามารถประกอบอาชีพได้ นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายว่าด้วยสัญญาที่ดินรวมถึงพินัยกรรมว่าต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร และกฎหมายที่สำคัญที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดขึ้น คือ กฎหมายห้ามซื้อขายสูบฝิ่น
                        ด้านเศรษฐกิจ
                     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือการรวบรวมรายได้จาการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งในสมัยนี้ได้มีการเรียกเก็บภาษีอากรแบบใหม่คือ การเดินสวนและการเดินนา การเดินสวนเป็นการแต่งตั้งเจ้าพนักงานไปสำรวจพื้นที่เพาะปลูกของราษฎร เพื่อคิดอัตราเสียภาษีอากรที่ถูกต้อง ทำให้เกิดความยุติธรรมแก่เจ้าของสวน  ส่วนการเดินนาคล้ายกับการเดินสวน แต่ให้เก็บหางข้าวแทนแทนการเก็บภาษีอากร
                        ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
                        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศทั้งประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ญวน เขมร มลายู จีน และประเทศในทวีปยุโป เช่น โปรตุเกส อังกฤษ โดยมีความสัมพัน์ในทางการเมืองและการค้า
                        ด้านสังคมและวัฒนธรรม
                        พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูพระพุทธศาสนามาก ในรัชสมัยของพระองค์มีการส่งคณะสงฆ์ไปยังศรีลังกา  และพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ได้แก่ วัดแจ้ง และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดประจำรัชกาล และโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดอีก คือ วัดท้ายตลาด และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดพุทไธสวรรค์  รวมทั้งทรงจำหลักบานประตูพระวิหารศรีศาสกยมุนีที่วัดสุทัศน์ฯ อีกทั้งยังทรงปฏิสังขรณ์วัดหงส์รัตนาราม วัดหนัง วัดบวรมงคล วัดราชาธิวาส วัดราชบูรณะ และวัดโมลีโลกยาราม  นอกจากนี้พระองค์ยังทรงปั้นหุ่นพระพักตร์พระพุทธธรณิศราชโลกนาถดิลก พระประธานในวัดอรุณฯ และทรงปั้นหุ่นพระพักตร์พระปฏิมา พระประธานในวัดราชสิทธาราม  นอกจากนี้พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการแก้ไขปรับปรุงการสอนพระปริยัติธรรม  และโปรดเกล้าฯ ให้มีการแปลบทสวดมนต์จากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย รวมถึงซ่อมแซมพระไตรปิฎกฉบับที่ขาดหายไป
                        นอกจากนี้แล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้มีการรื้อฟื้นพระราชต่างๆ ได้แก่ พระราชพิธีวิสาขบูชา ที่เคยทำในสมัยสุโขทัยให้กลับมามีความสำคัญอีก พระราชพิธีลงสรงและพระราชพิธีอาพาธพินาศ เมื่อเกิดอหิวาตกโลกระบาด
ด้านศิลปกรรมวรรณคดี
                        พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสนพระทัยและทรงทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติทุกแขนง ได้แก่
 ด้านการช่าง  งานปั้นพระประธาน งานแกะสลับานประตู การสร้างสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง
ด้านการละคร ทรงฟื้นฟูการละคร โดยทรงให้มีการซ้อมท่ารำแบบแผนประกอบการแต่งบทพระราชนิพนธ์  การละครมีมาตรฐานในการรำ เพลง และบท เป็นแบบอย่างของละครสืบมา
ด้านดนตรี ทรงมีความชำนาญในเครื่องดนตรี คือ ซอสามสาย และได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลง บุหลันลอยเลื่อน หรือบุหลันลอยฟ้า  ซึ่งเป็นเพลงที่มีความไพเราะมาก  นอกจากนี้ทรงริเริ่มให้มีการขับเสภาประกอบปี่พาทย์
ด้านวรรณคดี ทรงเป็นกวีที่มีพระปรีชาสามารถและทรงสนับสนุนกวี ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีสำคัญหลายเรื่อง นับว่าสมัยของพระองค์นี้เป็นยุคทองแห่งวรรณคดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น